มิติด้านวัฒนธรรมและประเพณี

สำหรับประเพณีทางศาสนาของหมู่บ้านม่วงลายทั้งหมู่ 7 และหมู่ 9 มีการปฏิบัติสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีมาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันตามหลักพุทธศาสนา รวมทั้งประเพณีวัฒนธรรมของภาคอีสาน “ประเพณีฮีตสิบสอง คองสิบสี่” เป็นประเพณีที่ชาวบ้านปฏิบัติกันมาในโอกาสต่าง ๆ ทั้งสิบสองเดือนของแต่ละปี เป็นการผสมผสานพิธีกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องผีและพิธีกรรมทางการเกษตร เข้ากับพิธีกรรมทางพุทธศาสนา

ฮีตสิบสอง มาจากคำ 2 คำ คือ ฮีต กับ สิบสอง ฮีตมาจากคำว่า จารีต หมายถึงสิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนกลายเป็นประเพณีที่ดีงาม ชาวอีสาน เรียกว่า จาฮีต หรือฮีต สิบสองในหนึ่งปี

คองสิบสี่ หมายถึง ครองธรรม 14 อย่าง เป็นกรอบหรือแนวทางที่ใช้ปฏิบัติระหว่างกัน ของผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง พระสงฆ์ และระหว่างบุคคลทั่วไป เพื่อความสงบสุขร่มเย็นของบ้านเมือง

ประเพณีฮีตสิบสอง คองสิบสี่ และประเพณี วัฒนธรรมของหมู่บ้านแต่ละเดือนถูกจัดแบ่งไว้ดังนี้

ตาราง แสดงประเพณีและวัฒนธรรมของหมู่บ้านบ้านม่วงลายหมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 9

เดือนไทย เดือนลาว วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ
มกราคม เดือนยี่ (เดือนสอง) บุญคูนลาน “คูณลาน” หมายถึง การเพิ่มเข้าให้เป็นทวีคูณ หรือทำให้มากขึ้น คำว่า “ลาน” คือสถานที่สำหรับนวดข้าว การนำข้าวที่นวดแล้วกองขึ้นให้สูง เรียกว่า “คูณลาน” เชื่อว่าผู้ใดทำนาได้ข้าวมาก ๆ ก่อนหาบหรือขนข้าวมาใส่ยุ้งฉางก็ต้องทำบุญ เพื่อเป็นสิริมงคลให้เพิ่มความมั่งมีศรีสุขแก่ตนและครอบครัว
ทำบุญขึ้นปีใหม่ สวดมนต์ข้ามปี 31 ธันวาคม-1 มกราคม โดยมีความเชื่อว่า เมื่อก้าวถึงปีใหม่ เราจะลาปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ด้วยหัวใจเปี่ยมความหวัง ที่จะก้าวผ่านปีด้วยความสุข พร้อมกับสร้างโอกาสที่จะช่วยให้มั่นใจว่าในปีใหม่จะได้รับสิ่งที่ดีดี มีความเจริญก้าวหน้า ด้วยการทำบุญ การไหว้พระ การปฏิบัติธรรม การสวดมนต์ การให้การเผื่อแผ่แก่คนอื่น และการบำเพ็ญประโยชน์
กุมภาพันธ์ เดือนสาม บุญข้าวจี่ เรียกว่าวันทำบุญในวันมาฆบูชา “ข้าวจี่” คือเอาข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนเอาไม้เสียบย่างไฟ เมื่อข้าวสุกเกรียมแล้วก็เอาไข่ซึ่งตีไว้แล้วทาแล้วย่างซ้ำอีกกลายเป็นไข่เคลือบข้าวเหนียว เสร็จแล้วถอดไม้ออกแล้วเอาน้ำอ้อยหรือน้ำตาลที่เป็นก้อนยัดใส่แทนกลายเป็นข้าวเหนียวยัดไส้ แล้วถวายพระเณรฉันตอนเช้า ส่วนมากชาวบ้านจะรีบทำแต่เช้ามืด พอสว่างก็ลงศาลาการเปรียญ (ชาวบ้านเรียกหอแจก) นิมนต์พระเณรเจริญพระพุทธมนต์แล้วฉัน เป็นทั้งงานบุญและงานรื่นเริงประจำแต่ละหมู่บ้าน เพราะได้ทำข้าวจี่ไปถวายพระหลังจากพระฉันแล้วก็เลี้ยงกันเองสนุกสนาน เดือนนี้ชาวนาส่วนใหญ่ถือกันตั้งแต่โบราณมาว่าเป็นเดือนสู่ขวัญข้าว คือมีการถวายข้าวเปลือกพระและนิยมทำบุญบ้าน สวดมนต์เสร็จพิธีสงฆ์ แล้วก็สู่ขวัญข้าวตามธรรมเนียมพราหมณ์ บางบ้านก็ทำเล็กน้อยพอเป็นพิธี คือเอาข้าวไปถวายสงฆ์แล้วทำพิธีตุ้มปากเล้าเล็กน้อยเป็นการบูชาคุณของข้าวในเล้าหรือยุ้ง
เลี้ยงปู่ตา
  • มเหศักดิ์รักเมือง
  • ชาวบ้านเรียกว่า บุญเดือนสาม “ขึ้น 3 ค่ำเดือน 3”
  • ต้องจัดทุกปี เป็นประเพณีที่มีความเชื่อว่า ใครจะไปไหนมาไหนต้องบอกต้องกล่าว บอกกล่าว เช่น การที่คนจะมีเข้าหมู่บ้าน คนแปลกหน้าเข้าหมู่บ้าน การแต่งงาน ไปเป็นทหาร หรือ การจัดพิธีกรรมต่าง ๆ ในหมู่บ้าน ต้องแจ้งปู่ตา เพราะเขาเชื่อว่าปู่ตาจะทำหน้าที่ในการปกปักษ์รักษาคนในหมู่บ้าน โดยมีเจ้าจ้ำทำหน้าที่เป็นคนสื่อสารและพาลูกหลานในหมู่บ้านประกอบพิธี
  • สำหรับการประกอบพิธี เลี้ยงปู่ตาแต่ละครอบครัวจะต้องเตรียมของต่าง ๆ ดังนี้

ดอกไม้ 1 คู่
เทียน 1 คู่
ธูป 1 คู่
ข้าวเหนียว 1 ห่อ
เงิน 20 บาท

โดยเงิน 20 บาทนั้นจะนำไปซื้อของเพื่อประกอบอาหารเลี้ยงปู่ตารวมทั้งชาวบ้านที่ไปประกอบพิธี

มีนาคม เดือนสี่ บุญพระเวส เรียกกันโดยทั่วไปว่า “บุญมหาชาติ” พุทธศาสนิกชนจะเก็บดอกไม้เหล่านี้ มาร้อยเป็นมาลัยเพื่อตกแต่งศาลาการเปรียญสำหรับบุญมหาชาติและในงานนี้ก็จะมีการเทศน์มหาชาติ ซึ่งถือว่าเป็นงานอันศักดิ์สิทธิผู้ใดฟังเทศน์มหาชาติจบภายในวันเดียว และบำเพ็ญคุณงามความดี จะได้อานิสงส์ไปเกิดในภพหน้า งานมหากุศล ให้รำลึกถึงการบำเพ็ญบุญ คือ ความดีที่ยิ่งยวด อันมีการสละความเห็นแก่ตัวเพื่อผลคือ ประโยชน์สุขอันไพศาลของมวลชนมนุษย์ชาติ เป็นสำคัญ ดังนั้น บรรพชนชาวไทยอีสานแต่โบราณ จึงถือเป็นเทศกาลที่ประชาชนทั้งหลายพึงสนใจร่วมกระทำบำเพ็ญ และได้อนุรักษ์สืบทอดเป็นวัฒนธรรมสืบมา
ผ่าปลา เป็นประเพณีที่ชุมชนลงจับปลาที่หนองปลาดุก โดยเก็บค่าอุปกรณ์ในการจับปลา อุปกรณ์ละ 100 บาท เงินรายได้ที่ได้จากการจับปลาก็จะนำไปซื้อลูกพันธุ์ปลามาปล่อยและเลี้ยงไว้จนกว่าจะจับใหม่ในปีถัดไป และส่วนที่เหลือเก็บไว้ในการพัฒนาหมู่บ้านหรือการทำกิจกรรมร่วมกันของชาวบ้าน
ผีฟ้า เป็นประเพณีที่จัดทุกปี ในปี 2562 จัดขึ้นในวันที่ 7 มีนาคม “ผีฟ้า” นั้น ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นเทวดา ผีฟ้าจึงเป็นผีที่อยู่ระดับสูงกว่าผีชนิด อื่น ๆ ผีฟ้าสามารถที่จะ ดับยุคเข็ญหรือทำลายล้างอุปสรรคต่าง ๆ ได้ และสามารถที่จะช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนได้ การที่ชาวบ้านเกิดการเจ็บป่วยนั้นเนื่องจากไปละเมิดต่อผี การละเมิดต่อบรรพบุรุษ การรักษาต้องมีการเชิญผีฟ้ามาสิงสถิตอยู่ในร่างของคนทรง เรียกว่า “ผีฟ้า นางเทียน” ในการลำผีฟ้าของชาวอีสานนั้นมีองค์ประกอบ ทั้งหมด 4 ส่วนคือ หมอลำ ผีฟ้า หมอแคน ผู้ป่วย และเครื่องคาย สาเหตุที่มีการฟ้อนรำกันเพื่อเป็นการทำให้คนไข้มีพลังจิตในการต่อสู้กับการเจ็บป่วย มีอารมณ์ผ่อนคลาย ความตึงเครียด จิตใจปลอดโปร่ง ไร้วิตกกังวล และสร้างจิตสำนึกด้านความกตัญญู เป็นคตินิยมของวัฒนธรรมไทย ซึ่งได้สืบทอดต่อกันมาจนกลายเป็น ประเพณี จะเห็นว่าผีฟ้านั้น เป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจมนุษย์ โดยมีคติเตือนใจว่า “คนไม่เห็น ผีเห็น”
หมอเหยา เป็นการผูกแขนให้อยู่ดีมีแฮง เพราะเชิญผีฟ้าลงมาเพื่อให้มาช่วยเลี้ยงดู ความเชื่อเกี่ยวกับการเจ็บไข้ได้ป่วยเด็กและคนแก่
เมษายน เดือนห้า สงกรานต์ การใช้น้ำเป็นตัวแทน แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ การรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ สังคมไทยสมัยใหม่เกิดประเพณีกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ นับวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว มีการสรงน้ำพระที่นำสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข
ปล่อยปลา เป็นประเพณีของชาวบ้านที่มีการจัดทำขึ้นในทุก ๆ ปีเพื่อนำลูกปลาที่หลากหลายชนิด ปล่อยลงไปในบ่อน้ำของชุมชนและเมื่อระยะเวลาผ่านไป 1 ชาวบ้านจะมีการนำปลาที่ปล่อยขึ้นมาขายเพื่อหารายได้เข้าสู่ชุมชน โดยการให้ชาวบ้านในชุมชนและละแวกใกล้เคียงจ่ายค่าอุปกรณ์จับปลาแค่ 100 ต่อ 1 อุปกรณ์เท่านั้น
วันผู้สูงอายุ เป็นการช่วยกันส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพ และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข ดังคำกล่าวที่ว่า”ให้ความรัก พิทักษ์อนามัย ผู้สูงวัยอายุยืน”
พฤษภาคม เดือนหก บุญบั้งไฟ เป็นการบูชา พญาแถน หรือเทพวัสสกาลเทพบุตร ซึ่ง ชาวบ้านมีความเชื่อว่า พระยาแถนมีหน้าที่คอยดูแลให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล และมีความชื่นชอบไฟเป็นอย่างมาก หากหมู่บ้านใดไม่จัดทำการจัดงานบุญบั้งไฟบูชา ฝนก็จะไม่ตกถูกต้องตามฤดูกาล อาจก่อให้เกิดภัยพิบัติกับหมู่บ้านได้
มิถุนายน เดือนเจ็ด บุญซำฮะ เป็นความเชื่อเรื่องการปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกจากหมู่บ้าน
กรกฎาคม เดือนแปด เข้าพรรษา การเข้าพรรษานี้ถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยตรง พระสงฆ์จะไม่จำพรรษาไม่ได้ โดยมีระยะเวลาเข้าพรรษาประมาณ 3 เดือนในช่วงฤดูฝน โดยวันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ต่อเนื่องมาจากวันอาสาฬหบูชา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) ซึ่งพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั้งพระมหากษัตริย์และคน ทั่วไปได้สืบทอดประเพณีปฏิบัติการทำบุญในวันเข้าพรรษามาช้านานแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย เพื่อให้พระสงฆ์ได้หยุดพักการจาริกเพื่อเผยแพร่ศาสนาไปตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นไปด้วยความยากลำบากในช่วงฤดูฝน เพื่อป้องกันความเสียหายจากการอาจเดินเหยียบย่ำธัญพืชของชาวบ้านที่ปลูกลงแปลงในฤดูฝน
สิงหาคม เดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน “บุญเดือนเก้า” บุญข้าวประดับดิน เป็นบุญที่ทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ เปรต หรือญาติมิตรที่ตายไปแล้ว ข้าวประดับดิน ได้แก่ ข้าวและอาหารคาวหวาน พร้อมหมากพลู บุหรี่ที่ห่อด้วยใบตอง กล้วย นำไปวางไว้ตามใต้ต้นไม้ แขวนไว้ตามกิ่งไม้ ตามบริเวณกำแพงวัดบ้าง (คนอีสานโบราณเรียกกำแพงวัดว่า ต้ายวัด) หรือวางไว้ตามพื้นดิน เรียกว่า “ห่อข้าวน้อย” พร้อมกับเชิญวิญญาณของญาติมิตร นำภัตตาหารไปถวายแด่พระภิกษุ สามเณร แล้วอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตาย โดยหยาดน้ำ (กรวดน้ำ) ไปให้ด้วย โดยเชื่อว่าญาติที่ตายไปแล้วจะได้รับการปลดปล่อยจากนรก จะได้มากินในวันนี้
กันยายน เดือนสิบ บุญข้าวสาก ชาวบ้านจะจัดทำข้าวปลาอาหาร และเครื่องไทยทานต่าง ๆ  อุทิศให้ ผู้ล่วงลับไปแล้ว จะทำสากหรือสลาก มีคำอุทิศส่วนกุศลใส่กระดาษบันทึกชื่อ ผู้มีจิตศรัทธาบริจาค และความประสงค์ว่าจะบริจาคทานให้แก่ผู้ใด โดยบอกชื่อผู้ที่จะ มารับส่วนกุศลด้วย มีจุดประสงค์สำคัญ เพื่อมุ่งอุทิศส่วนกุศลให้ญาติสนิท เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย บิดา มารดา สามี ภรรยา พี่น้องที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว และอาจอุทิศให้เปรตทั่วไปด้วย
ตุลาคม เดือนสิบเอ็ด ออกพรรษา เป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาจำพรรษา 3 เดือนของพระสงฆ์เถรวาท โดยเป็นวันที่พระสงฆ์จะทำสังฆกรรม คือ การปวารณาในวันนี้ เป็นการให้โอกาสแก่พระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ร่วมกันตลอด 3 เดือน สามารถว่ากล่าวตักเตือนและชี้ข้อบกพร่องแก่กันและกันได้โดยเสมอภาค ด้วยจิตที่ปรารถนาดีซึ่งกันและกัน เพื่อให้พระสงฆ์ที่ถูกตักเตือนมีโอกาสรับรู้ข้อบกพร่องของตนและนำข้อบกพร่องไปแก้ไขปรับปรุงตัวให้ดียิ่งขึ้น

 

พฤศจิกายน เดือนสิบสอง บุญกฐิน

กฐินเป็นชื่อเรียกผ้าไตรจีวรที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือนแล้ว สามารถรับมานุ่งห่มได้ การทำบุญกฐินนั้นมีกำหนดระยะเวลาถวายเพียง 1 เดือน คือตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 (วันเพ็ญเดือน 12) เท่านั้นระยะเวลานี้เรียกว่า กฐินกาล คือระยะเวลา ทอดกฐิน หรือ เทศกาลทอดกฐิน ชาวบ้านเชื่อว่า

1. เป็นการสงเคราะห์พระภิกษุที่จำพรรษาครบถ้วนไตรมาสให้ได้รับอานิสงส์ตามพุทธบัญญัติ

2. เป็นการเทิดทูนพระพุทธบัญญัติเรื่องกฐินให้คงอยู่สืบไป นับได้ว่าบูชาพระพุทธศาสนาด้วยการปฏิบัติบูชาส่วนหนึ่ง

3. สืบต่อประเพณีกฐินทาน มิให้เสื่อมสลายไปจากวัฒนธรรมประเพณีของคนไทย ซึ่งบรรพบุรุษนำสืบต่อกันมามิขาดสาย

4. การทอดกฐินเป็นการถวายทานโดยไม่เจาะจงบุคคลโดยเฉพาะ แต่ถวายแก่หมู่สงฆ์เป็นส่วนรวมจึงเข้าลักษณะเป็นสังฆทานที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ ว่ามีผลานิสงส์มาก

5. การร่วมบำเพ็ญกฐินทาน เป็นกาลทานคือเป็นทานที่ถวายได้ภายในเวลาที่มีพระพุทธานุญาตกำหนด จึงมีอานิสงส์เป็นพิเศษ

6. ในการทอดกฐิน ส่วนใหญ่เป็นการร่วมมือร่วมใจกันของคนจำนวนมากเพื่อสร้างความดีงาม จึงเป็นการเสริมสร้างพลังสามัคคีขึ้นในสังคมอีกทางหนึ่งด้วย

ลอยกระทง เป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคา บางหลักฐานเชื่อว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที และบางหลักฐานก็ว่าเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์หรือพระมหาสาวก
ธันวาคม เดือนอ้าย บุญเข้ากรรม เป็นบุญที่ทำในเดือนแรกของปีที่ชาวบ้านจะต้องประกอบพิธีบุญกันจนเป็นประเพณีซึ่งอาจจะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ได้ พิธีบุญนี้จะเกี่ยวกับพระโดยตรงซึ่งความจริงน่าจะเป็นเรื่องของสงฆ์โดยเฉพาะ แต่มีความเชื่อกันว่าเมื่อทำบุญกับพระที่ทำพิธีนี้จะทำให้ได้อานิสงส์มาก
บุญกองข้าว วันที่ 31 เดือนธันวาคมของทุกปี เพื่อเป็นการขอบคุณลานข้าวและฉลองกุ้มข้าว (กองข้าวเปลือก) ของตน และการนำข้าวของตนมาทาน เป็นการทำบุญก่อนนำข้าวมารับประทาน โดยชาวบ้านจะนำข้าวเปลือกของตน คนละเล็กคนละน้อยไปกองรวมกันที่ศาลากลางบ้าน เป็นกองข้าวขนาดใหญ่เรียกว่า “ กุ้มข้าว ” แล้วนิมนต์พระสงฆ์มาทำบุญถวายทานตามประเพณีเสร็จแล้วก็ถวายข้าวเปลือกนั้นให้แก่คณะสงฆ์ และแล้วแต่จะจัดการกันอย่างไรตามที่เห็นสมควรที่ไม่ขัดต่อสมณวิสัย
ส่งท้ายปีเก่า เป็นการลาปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ด้วยหัวใจเปี่ยมความหวัง ที่จะก้าวผ่านปีด้วยความสุข พร้อมกับสร้างโอกาสที่จะช่วยให้มั่นใจว่า ในปีใหม่จะได้รับสิ่งที่ดีดี มีความเจริญก้าวหน้า ด้วยการทำบุญ การไหว้พระ และการบำเพ็ญประโยชน์

ศาสนา

ชาวบ้านในหมู่บ้านม่วงลายทั้ง 2 หมู่บ้านนับถือศาสนาพุทธ วัดมี 1 แห่ง คือ วัดม่วงลายอนงคาราม และ ที่พักสงฆ์ 1 แห่ง คือ ที่พักสงฆ์บ้านม่วงลาย เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้ง 2 หมู่บ้านและหล่อหลอมให้ทั้ง 2 หมู่บ้าน รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อสืบทอดและดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม ประเพณีของวิถีชาวพุทธ

วัดม่วงลายอนงคาราม ตั้งอยู่ที่บ้านม่วงลายหมู่ 9 มีการจดทะเบียนวัด โดยมีการก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2419 ปัจจุบัน มีพระครูสุพัฒน์ วรธรรม (พระสมัย จันทรังษี) เป็นเจ้าอาวาส

ที่พักสงฆ์บ้านม่วงลาย ตั้งอยู่บ้านม่วงลายหมู่ที่ 7 ยังไม่มีการจดทะเบียนเป็นสำนักสงฆ์หรือวัด

นอกจากจะมีวัดและที่พักสงฆ์ที่เป็นเสมือนที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านม่วงลายทั้งสองหมู่บ้านให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว

ชาวบ้านม่วงลายยังมีปู่ตาที่นับถือและคนในหมู่บ้านเคารพ เนื่องจากเชื่อว่าปู่ตาจะปกปักษ์รักษาให้คนในหมู่บ้านมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย และคอยคุ้มครองให้คนในหมู่บ้านปลอดภัยจากสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ดีได้ และในหมู่บ้านทั้ง 2 หมู่ยังคงมีการสืบทอดประเพณี “ผีฟ้า และผีหมอ” ที่เชื่อว่าเป็นผีฟ้าเป็นเทวดาสามารถที่ดับยุคเข็ญหรือทำลายล้างอุปสรรคต่าง ๆ ได้ และสามารถที่จะช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนได้ การที่ชาวบ้านเกิดการเจ็บป่วยได้