มิติทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ชาวบ้านบ้านม่วงลายทั้ง 2 หมู่บ้านมีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน โดยแบ่งพื้นที่และการใช้ประโยชน์ ดังนี้

ที่ดินทำกิน

พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทำการเกษตรกรรม โดยในฤดูฝนชาวบ้านจะทำการเพาะปลูกข้าวนาปี โดยน้ำที่ใช้ในการทำการเกษตรจะพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก และหลังจากทำนาแล้วเข้าสู่ฤดูแล้งชาวบ้านจะมีการปลูกพืชหลังนา เช่น ข้าวโพด มันฝรั่ง มะเขือเทศ และหน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น

 

 

ป่าไม้ชุมชนบ้านม่วงลาย

ป่าไม้ชุมชนบ้านม่วงลายตั้งอยู่หมู่ที่ 9 มีพื้นที่ทั้งหมด 33 ไร่ เป็นป่าไม้ผลัดใบที่เป็นป่าเต็งรัง ชาวบ้านบ้านม่วงลายทั้ง หมู่ 7 และหมู่ 9 สามารถใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนได้ทั้งการหาของป่า เช่น เห็ด ไข่มดแดง ผักหวาน ฟืน ป่าชุมชนบ้านม่วงลายนั้นถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของหมู่บ้าน ชาวบ้านในหมู่บ้านจะเรียกว่าป่าชุมชนแห่งนี้ว่า “ป่าอยู่ป่ากิน” ในป่าชุมชนบ้านม่วงลายจะมีพืชพันธุ์ไม้เด่นหลากหลายชนิด เช่น ไม้ยางนา ซึ่งมีมากกว่า 3,000 ต้น นอกจากนั้นยังมีไม้ประดู่ ไม้กระบาก และไม้กระบก และพันธุ์ไม้ชนิดอื่นอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีของป่าอีกหลากหลายชนิดตามฤดูกาล ซึ่งป่าชุมชนแห่งนี้ จึงเปรียบเสมือนเป็น “เซเวนชุมชน” (คำกล่าวของนายจำลอง จันทร์ไขโคตร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7) นอกจากเป็นที่ทำมาหากินของชาวบ้านแล้วยังใช้เป็นสถานที่ตั้งของฌาปนสถานของทั้งหมู่บ้านที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองหมู่ และเป็นที่ตั้งของโรงปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดชุมชนหมู่ 9 สำหรับการดูแลทรัพยากรของชุมชนนี้ชาวบ้านในชุมชนจะร่วมตั้งกฎและกติกาในการปกป้องดูแลป่า และมีความเชื่อว่าปู่ตาจะช่วยคุ้มครองป่าชุมชนด้วย

ที่อยู่อาศัย

ที่พักอาศัยเป็นสถานที่ที่บุคคลในครอบครัวใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นส่วนใหญ่ ที่พักอาศัยนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญและจำเป็นมากสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์โดยทั่วไป และเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพของผู้อยู่อาศัย ชาวบ้านบ้านม่วงลายมีการสร้างที่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่ที่มีกรรมสิทธิ์เป็นของตัวเอง และมีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน การสร้างบ้านของชุมชนบ้านม่วงลายนั้นจะมีลักษณะบ้านแบบสังคมชนบททั่วไปเช่นเดียวกับหมู่บ้านอื่น ๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยคำนึงถึงการจัดสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาพจิต ฐานะความเป็นอยู่ และความปลอดภัย

สถานที่ราชการและสาธารณะประโยชน์

ชุมชนบ้านม่วงลายมีสถานที่ราชการและสาธารณะประโยชน์ที่ใช้ร่วมทั้ง 2 บ้าน รวมทั้งหมู่บ้านใกล้เคียง ดังนี้

  • องค์การบริหารส่วนตำบลม่วงลาย
  • ศาลาประชาคม ตั้งอยู่บ้านม่วงลายหมู่ที่ 7
  • โรงเรียนบ้านม่วงลายราษฎร์ผดุงศิลป์
  • ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านม่วงลาย
  • โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลม่วงลาย ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านม่วงลายหมู่ที่ 9
  • เมรุเผาศพ ตั้งอยู่ในป่าชุมชนของพื้นที่หมู่ที่ 9

แหล่งน้ำ

ทรัพยากรแหล่งน้ำของหมู่บ้านม่วงลายทั้งหมู่ 7 และหมู่ 9 นั้น ชาวบ้านและคนในละแวกใกล้เคียงสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ทั้งในการใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร การสาธารณูปโภคและการบริโภค ในฤดูฝนจะมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ พื้นที่ส่วนใหญ่ของทั้ง 2 หมู่บ้านไม่เคยประสบปัญหาน้ำท่วม ยกเว้นในพื้นที่ที่ใกล้และติดกับหนองหาร แต่ในฤดูแล้งชาวบ้านจะประสบปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากเป็นลำน้ำที่ใช้ประโยชน์นั้นเป็นลำน้ำสาขาน้ำจึงน้อยหรือแห้งขอด ไม่เหมาะต่อการเพาะปลูกและการทำการเกษตร อีกทั้งชุมชนยังห่างไกลจากลำน้ำขนาดใหญ่ ลำน้ำที่สำคัญของบ้านม่วงลายทั้งหมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 9 คือ

ลำน้ำพุงเก่า

เป็นแหล่งน้ำที่ใช้ประโยชน์ในเรื่องของการเกษตรการปลูกพืชไร่ ลำน้ำดังกล่าวในฤดูแล้งน้ำจะแห้ง ไม่เพียงพอต่อการนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษต

หนองหาน

เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่เกษตรกรในบ้านม่วงลายหมู่ที่ 7 และ หมู่ 9 ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์เท่าที่ควร เนื่องจากระบบชลประทานและระบบการส่งน้ำยังไม่แล้วเสร็จ แต่หลังจากเดือนเมษายน พ.ศ. 2562 เกษตรกรจะได้ใช้ประโยชน์จากน้ำแห่งนี้ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากคลองส่งน้ำระบบท่อส่งใต้ดินจะได้ดำเนินการเสร็จสิ้น โดยในอดีตที่ผ่านมาในช่วงฤดูแล้งจะมีเพียงเกษตรกรที่อยู่ใกล้หนองหานเท่านั้นที่สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำนี้ได้

หนองปลาดุก

เป็นบ่อเลี้ยงปลาชุมชนขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านม่วงลาย เป็นหนองน้ำสาธารณะที่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ทางการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร ชาวบ้านของทั้งหมู่ 7 และหมู่ 9 จะใช้ประโยชน์จากหนองน้ำนี้ร่วมกัน โดยในช่วงเมษายนของทุกปีจะทำการปล่อยลูกปลาและในเดือนมีนาคมของปีถัดไปจะมีประเพณีผ่าปลา ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นการหารายได้เช้าชุมชนอีกรูปแบบหนึ่ง ปลาในหนองปลาดุกมีหลากหลายชนิด เช่น ปลานิล ปลาดุก ปลาหมอ และปลาตะเพียน เป็นต้น

 

 

การเจาะบ่อบาดาล

เป็นบ่อน้ำที่ถูกสร้างขึ้นโดยเจ้าของพื้นที่ เพื่อน้ำมาใช้ประโยชน์ในการปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ในครัวเรือน

 

 

 

 

 

วัดและสถานที่สำคัญทางศาสนา

บ้านม่วงลายทั้งหมู่ 7 และหมู่ 9 นับถือศาสนาพุทธ และมีวัดเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจมาอย่างยาวนาน บ้านม่วงลายมีวัด 1 แห่งและมีสำนักสงฆ์ 1 แห่ง คือ

วัดม่วงลายอนงคาราม

ในอดีตวัดม่วงลายอนงคารามตั้งอยู่เลขที่ 180 บ้านม่วงลาย หมู่ที่ 7 ตำบลม่วงลาย อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ปัจจุบันหลังจากที่มีการแยกหมู่บ้านออกเป็น 2 หมู่คือหมู่ 7 และ หมู่ 9 วัดจึงถูกจัดไว้ที่บ้านม่วงลาย หมู่ที่ 9 ตามเขตแดนที่ดินที่ถูกแยก ที่ดินของวัดมีเนื้อที่ 8 ไร่ 2 งาน

อาณาเขต ทิศเหนือประมาณ 2 เส้น 5 วา จดที่นาของนายขาน  ทิศใต้ประมาณ 2 เส้น 2 วา จดบ้านของนายทอน ครึ่งหนึ่ง ทิศตะวันออกประมาณ 3 เส้น จดที่นาของนายขาน และนายจันทร์ ทิศตะวันตกประมาณ 2 เส้น จดถนนและหมู่บ้าน อาคารเสนาสนะประกอบด้วยศาลาบำเพ็ญกุศลและกุฏิ วัดม่วงลายอนงคารามก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2430 ชาวบ้านเรียกว่าวัดบ้านม่วงลาย การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเป็นผู้ดูแล ปัจจุบันมีพระจำนวน 5 รูปและสามเณรอีก 1 รูป

 

ตาราง แสดงรายนามของเจ้าอาวาสวัดวัดม่วงลายอนงคารามตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

รูปที่ ชื่อ พ.ศ.
1 พระแจ้ง 2436-2438
2 พระอุต 2435-2445
3 พระทอน 2445-2447
4 พระวงค์ 2447-2450
5 พระฉิม 2450-2461
6 พระสิงห์ 2461-2464
7 พระครูสมบูรณ์ปัญญาวุฒิ (ใสย์ เขมิโย) 2464-2503
8 พระขาว (ปภสสโร) 2503-2506
9 พระโทน (ปสุโต) 2506-2516
10 พระครูสิริ (ปุญญายุต) 2516-2561
11 พระครูสุพัฒน์ วรธรรม 2562

ที่พักสงฆ์บ้านม่วงลาย

ที่พักสงฆ์บ้านม่วงลาย ตั้งอยู่บ้านม่วงลายหมู่ที่ 7 ตำบลม่วงลาย อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ยังไม่จดทะเบียนก่อตั้งเป็นวัด ปัจจุบันไม่มีพระประจำ

ฌาปนสถาน

ฌาปนสถานของชาวบ้านม่วงลายนั้นเกิดจากชาวบ้านม่วงลายหมู่ที่ 9 ได้ร่วมกันสร้างฌาปนสถานศพประจำหมู่ที่ 9 ขึ้น สร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 โดยเงินโครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน (SML) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2555-2556 งบประมาณทั้งสิ้น 400,000 บาท พร้อมกันนี้ทางวัดม่วงลายสมทบเพิ่มอีก 50,000 บาท รวมงบประมาณก่อสร้างเมรุเผ่าศพทั้งสิ้น 450,000 บาท และชาวบ้านเชื่อว่าศพแรกที่จะเผานั้นต้องเป็นศพที่มีอายุที่เหมาะสม คือ ศพต้องมีอายุ 60 ปี ขึ้นไป โดยไม่เลือกเพศหญิงหรือเพศชาย กว่าจะมีศพที่เหมาะสมที่สามารถนำเข้าเผาในเมรุต้องรอประมาณ 1 ปีเต็ม ศพแรกที่เผาในเมรุของบ้านม่วงลายคือศพนางสุข จันทรังษี ซึ่งเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2479 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2557 เวลา 02.00 นาฬิกา นับอายุได้ครบ 78 ปี